top of page

ศ21101 ศิลปะ 1

คุณค่าของงานทัศนศิลป์

คุณค่าของงานทัศนศิลป์

ทัศนศิลป์เป็นศิลปะที่รับรู้ได้ด้วยสายตา การรับรู้ทางการมองเห็นในแขนงจิตรกรรม ประติมากรรมและสถาปัตยกรรม ทำให้เกิดแรงกระตุ้นและตอบสนองทางด้านจิตใจพร้อมกันนั้นจิตใจของมนุษย์ก็เป็นตัวแปรค่าและกำหนดความงาม ความประณีต เรื่องราว และประโยชน์ต่อสังคมมนุษย์ การรับรู้คุณค่าของสิ่งเหล่านี้ รับรู้ได้ด้วยอารมณ์ ความรู้สึกของแต่ละบุคคล ความงามและเรื่องราวจะเกิดมีคุณค่าก็เพราะการรับรู้ทางการมองเห็น เกิดความรู้สึกประทับใจ มีความอิ่มเอิบใจในคุณค่านั้นๆ สำหรับงานทัศนศิลป์ไม่ว่ารูปแบบใดย่อมมีคุณค่าในตัวของผลงานเอง ผลงานทัศนศิลป์สามารถแบ่งการรับรู้คุณค่าได้ 2 คุณค่าคือ

1. คุณค่าทางความงาม (Aesthetic Value)

เป็นการรวบรวมในเรื่องของความประณีต ความละเอียด มีระเบียบ น่าทึ่ง มโหฬาร ประหลาด แปลกหูแปลกตา และเป็นสิ่งที่มีคุณงามความดี ทำให้ผู้เห็นเกิดความประทับใจไปอีกนาน สิ่งเหล่านี้รวมเรียกว่าคุณค่าทางความงาม โดยเกณฑ์ของความงามที่อยู่ในงานทัศนศิลป์ ซึ่งสามารถรับรู้และยอมรับได้โดยทั่วไป เป็นการประสานกันของส่วนประกอบต่างๆของความงาม เช่นจุด เส้น รูปร่าง รูปทรง สี แสงเงา พื้นผิว ความกลมกลืน และการจัดภาพ เป็นต้น โดยผู้สร้างสรรค์งานทัศนศิลป์จะแสดงออกตามความรู้สึกในแต่ละเหตุการณ์แต่ละสังคม เพราะความงามของแต่ละสังคมย่อมมีความแตกต่างขึ้นอยู่กับสภาพของสังคม และวัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ

2. คุณค่าทางเรื่องราว (Content Value)

เป็นการแสดงลักษณะบ่งบอกถึงความหมายเรื่องราวความเกี่ยวข้องและจุดประสงค์แฝงอยู่ในผลงาน สามารถบอกเนื้อหาสาระสำคัญว่ามีอะไร จะต่อไปอย่างไร เพราะทัศนศิลป์แต่ละชิ้นบอกเรื่องราวต่างๆอยู่ในตัวเอง จึงมองเห็นและเข้าใจได้ง่ายกว่าคุณค่าทางด้านความงาม

1. คุณค่าเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์

เป็นเรื่องราวที่นำเสนอเหตุการณ์สำคัญของคนแต่ละเชื้อชาติที่น่าสนใจ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของอดีต อาจเป็นเรื่องของการต่อสู้เพื่ออิสรภาพ การเรียกร้องสิทธิต่างๆ และพงศาวดารในแต่ละสมัย เรื่องราวที่นำมาถ่ายทอดสามารถปลุกเร้าอารมณ์ ความรู้สึก ให้เกิดการกระตุ้นเตือน และคล้อยตามถึงความรักชาติ รักถิ่นตนเสียสละในด้านต่าง ๆ เช่น อนุสาวรีย์ และจิตรกรรมฝาผนัง เป็นต้น

2. คุณค่าเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อในสิ่งเร้นลับ ศรัทธา



มนุษย์ไม่ ว่าชาติใดย่อมมีความกลัวด้วยกันทั้งสิ้น เมื่อมนุษย์เกิดความกลัวมนุษย์จะหาสิ่งที่มาคลี่คลายดับความกลัวให้เบาบางลง เช่น ความเชื่อในสิ่งเร้นลับ เทพเจ้า พระเจ้า นรกสวรรค์ ภูตผี ปีศาจ ไสยศาสตร์ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ หรือวิญญาณ ก่อเกิดเทวรูป รูปปั้น และอาคารประกอบพิธีกรรมต่างๆ เป็นต้น

3. คุณค่าเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี

มนุษย์ทุกชนย่อมมีศาสนาวัฒนธรรมและประเพณีของตนเอง และด้วยความรักความศรัทธา ทำให้เกิดพลังและแรงบันดาลใจอันมหาศาลที่จะถ่ายทอดความเชื่อ ความศรัทธาให้ผู้อื่นได้รับรู้ เรื่องราวที่เกี่ยวกับศาสนาและวัฒนธรรม จึงถูกสะท้อนผ่านจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ออกมาทางรูปแบบงานทัศนศิลป์ในหลากหลายประเภทตลอดทุกยุคทุกสมัยเปรียบเสมือนภาพจำลองเหตุการณ์ เช่น ภาพจิตรกรรมไทย ชาดก พุทธประวัติ เป็นต้น

 

4. คุณค่าเรื่องราวเกี่ยวกับการเมือง การปกครอง

เช่น การสร้างประติมากรรมอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญ ๆ เพื่อเป็นอนุสรณ์แสดงว่าบุคคลผู้นั้นเป็นผู้มีความสามารถในการเมืองการปกครอง

5. คุณค่าเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของคนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ



เป็นการถ่ายทอดเกี่ยวกับการเผชิญในสิ่งที่มนุษย์ได้กระทำอยู่ในแต่ละวัน เพราะการดำรงชีวิตอยู่ของมนุษย์ในสังคมต้องการความสุข โดยอาศัยปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความสุขในแต่ละวัน ได้แก่ ทางร่างกาย จิตใจอารมณ์ และทางด้านสังคม ดังนั้นเรื่องราวที่นำเสนอเพื่อให้เกิดคุณค่า เช่นเรื่องราวของที่อยู่อาศัย อาคาร ยารักษาโรค การพักผ่อนหย่อนใจ ความปลอดภัย ความก้าวหน้าทางการศึกษาและอาชีพเป็นต้น

6. คุณค่าเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

คุณค่าของเรื่องราวลักษณะนี้เป็นการนำเสนอ ในเรื่องของความงามของธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งเสนอแง่คิดว่าทำไมมนุษย์จึงทำลายธรรมชาติกับสิ่งแวดล้อม และทำไมเราต้องรณรงค์ต่อต้านการทำลายธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สมควรที่จะอนุรักษ์ให้อยู่คู่มนุษย์สืบไป รูปแบบเรื่องราว ได้แก่ การปลูกป่า มลพิษจากโรงงาน น้ำเน่าเสีย ความงามและการทำลายธรรมชาติกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

7. คุณค่าเรื่องราวเกี่ยวกับวรรณคดี นิทานพื้นบ้าน สำนวน คำพังเพย สุภาษิต

เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวจากหนังสือ นิทานพื้นบ้าน สำนวน คำพังเพย สุภาษิต ตำนาน พงศวดาร ที่สามารถบรรยายเนื้อหาเรื่องราว ให้ผู้ดูได้รู้อย่างชัดเจน โดยแสดงเป็นภาพเล่าเรื่อง เช่น ภาพจิตรกรรมไทย สังข์ทอง และรามเกียรติ์ เป็นต้น

8. คุณค่าเรื่องราวเกี่ยวกับความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เป็นการนำเสนอเรื่องของความเจริญก้าวหน้าในด้านวิทยาการต่างๆ ที่นำพาให้ประเทศนั้นๆ เจริญรุ่งเรือง คุณค่าของเรื่องราวประเภทนี้สามารถโน้มน้าวให้ผู้ชมเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น เรื่องราวเกี่ยวกับอุตสาหกรรม ยานอวกาศ วงการแพทย์ เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ และการสื่อสาร เป็นต้น

 

 

ทัศนศิลป์ จึงเป็นศิลปะแขนงที่ให้คุณค่าแก่มนุษย์อีกหลายด้าน จะเห็นได้จากประโยชน์ดังต่อไปนี้
ด้านการอยู่อาศัย มนุษย์ได้พัฒนาที่อยู่อาศัยจากอดีตกาลจากถ้ำ เพิงผา มาเป็นบ้านแบบง่ายๆ ต่อมารู้จักต่อเติมตกแต่งให้สวยงามและมีประโยชน์มากขึ้น
ด้านเครื่องใช้สอยในชีวิตประจำวัน มนุษย์ได้พัฒนาโดยนำศิลปะเข้าไปเกี่ยวข้อง ในรูปของงานหัตถกรรม หรืองานอุตสาหกรรมศิลป์

นอกจากนำศิลปะมาประกอบให้เกิดประโยชน์โดยตรงแล้ว ยังมีส่วนช่วยโน้มน้าวจิตใจให้มีความรักในความงามของธรรมชาติ และความงามของศิลปะ ย่อมจะทำให้จิตใจอ่อนโยน ดำเนินชีวิตอยู่ได้อย่างสมบูรณ์แบบทั้งทางกายและจิตใจ
ประโยชน์ที่ได้จากการศึกษาทัศนศิลป์ คือสามารถนำความรู้และทักษะไปประยุกต์กับการเรียนการปฏิบัติงานในสาขาอื่น ๆ เช่น วิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม สถาปัตยกรรม สังคมศึกษา สื่อสารมวลชน การออกแบบ การตกแต่งบ้านเรือน ตลอดจนการแต่งกายได้อีกด้วย
ดังนั้นการศึกษาทัศนศิลป์ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตและคุณค่าทางด้านสุนทรียภาพ กระทั่งการรู้จักนำศิลปะมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันอย่างสมบูรณ์แบบ และยังสามารถนำคุณค่าเหล่านี้ไปพัฒนาศิลปวัฒนธรรมของชาติให้เจริญก้าวหน้าสืบต่อไป

ฐานของงานศิลปะ
ฐานของงานศิลปะประกอบด้วย
1. ฐานที่มา
2. ฐานของการรับรู้

ฐานที่มา
มนุษย์ + สิ่งแวดล้อม + สื่อ แล้วจึงได้กลายเป็น ศิลปะ หรือ
Man + Environment + Media กลายเป็น Art
ทัศนะของคนเราแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความรู้และประสบการณ์ธรรมชาติ กล่าวคือ ถ้าเป็นภาพเขียนสิ่งของธรรมชาติหรือ ภาพมนุษย์ ก็จัดได้ว่าเป็นงานประเภทที่ลอกเลียนแบบธรรมชาติ ดังนั้นการที่จะหวังให้ศิลปินแสดงทัศนะให้ตรงกับความต้องการของผู้ดูจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก งานศิลปะก็คือ ผลงาน ของการแสดงความรู้สึกนึกคิดเฉพาะตัวของศิลปิน โดยผ่านสื่อกลาง(Media) ออกมาเป็นงานศิลปะ

ฐานที่มาของงานทัศนศิลป์ ประกอบด้วย

1.1 ศิลปิน (Artist) เป็นผู้ถ่ายทอดผลงานศิลปะโดยได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติสิ่งแวดล้อมด้วยความรู้สึกประทับใจหรือเกิดความสะเทือนอารมณ์ จึงถ่ายทอดออกมาตามอารมณ์ความรู้สึกและจินตนาการเฉพาะตน
1.2 สิ่งแวดล้อม (Environment) ได้แก่ ธรรมชาติ ความเชื่อทางศาสนา เรื่องจากประวัติศาสตร์ เรื่องราวจากวรรณคดี ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณี ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งเร้า เป็นตัวกระตุ้นให้มนุษย์เกิดอารมณ์ความรู้สึกและแสดงออกด้วยการถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานศิลปกรรม
1.3 สื่อ/วัสดุ (Media) ได้แก่ กระดาษ สี ดินสอ หิน ไม้ ปูน ฯลฯ ซึ่งศิลปินได้ซึมซับประสบการณ์จากสิ่งแวดล้อม แล้วนำไปถ่ายทอดลงบนสื่อให้ออกมาเป็นรูปธรรม
1.4 ผลงานศิลปะ (ART) เป็นผลงานที่เกิดจากแรงบันดาลใจในสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ โดยผ่านสื่อให้ปรากฏเป็นรูปธรรมเรียกว่า "ผลงานศิลปะ"

สื่อวิดีโอจาก youtube

บทเรียนจากไฟล์  Pdf

bottom of page