top of page

ยินดีต้อนรับสู่ห้องเรียนออนไลน์
 

ศ23214 วิชา สุนทรียศาสตร์ด้านศิลปะ ม.3

Welcome To Learn Art Online By KruNUENG

สุนทรียศาสตร์ทางด้านศิลปะ

สุนทรียศาสตร์

สุนทรียศาสตร์เป็นสาขาของปรัชญาที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ในเรื่องความงาม ตลอดรวมถึงความน่าเกลียด ในภาษาฝรั่งเรียกว่าเป็นคุณค่าในเชิงนิเสธ(negative value) นอกจากนี้เรื่องของสุนทรียศาสตร์ยังเกี่ยวกข้องกับประเด็นคำถามที่ว่า คุณสมบัติ(ความงาม – ความน่าเกลียด) เป็นสิ่งที่มีอยู่ในเชิง”วัตถุวิสัย”(objective) หรือเป็นเรื่องของ”อัตวิสัย”(subjective)ซึ่งมีอยู่ในใจของแต่ละบุคคลเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ วัตถุต่างๆ จึงควรที่จะได้รับการสัมผัสโดยวิธีการเฉพาะอันหนึ่ง. นอกจากนี้ สุนทรียศาสตร์ยังตั้งคำถามในเรื่องที่ว่า มันมีความแตกต่างกัน ระหว่าง”ความงาม”และ”ความสูงส่ง”(sublime)หรือไม่?

Criticism and Psychology of Art

            การวิจารณ์และจิตวิทยาเกี่ยวกับศิลปะ(criticism and psychology of art) แม้จิตวิทยาจะมีระเบียบวิธีที่เป็นอิสระแตกต่างไป แต่ก็เป็นศาสตร์ที่ถูกนำมาเชื่อมโยงกับสุนทรียศาสตร์. จิตวิทยาเกี่ยวกับศิลปะเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกับปัจจัยต่างๆ ทางด้านศิลปะ ยกตัวอย่างเช่น การที่มนุษย์ตอบโต้และขานรับต่อสี เสียง เส้น รูปทรง หรือคำต่างๆ และเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับอารมณ์ความรู้สึก. ส่วนการวิจารณ์ศิลปะจำกัดตัวของมันเองกับผลงานศิลปะโดยเฉพาะ มีการวิเคราะห์ถึงโครงสร้าง ความหมาย และปัญหาต่างๆ ในงานศิลปะเปรียบเทียบกับผลงานชิ้นอื่นๆ และมีการประเมินคุณค่างานศิลปะ

ศัพท์คำว่า”สุนทรียศาสตร์”(Aesthetics)ถูกนำเสนอขึ้นมานับแต่ปี ค.ศ. 1753 โดยนักปรัชญาชาวเยอรมัน นามว่า Alexander Gottlieb Baumgarten โดยเขาหมายความถึงรสนิยม ความรู้สึกสัมผัสในความงาม(*),แต่การศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติของความงามได้รับการดำเนินการมาหลายศตวรรษแล้ว. ในอดีตนั้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวที่สนใจโดยบรรดานักปรัชญาทั้งหลาย นับแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา บรรดาศิลปินทั้งหลายได้มีส่วนช่วยเหลือสนับสนุนทัศนะของพวกเขาด้วย 

 

Plato: Classical Theories

          ทฤษฎีทางสุนทรียศาสตร์แรกในขอบเขตนี้เป็นของ Plato นักปรัชญากรีก ผู้ซึ่งเชื่อว่าความเป็นจริง(reality)มีอยู่ในโลกของแบบ(archetypes or forms) ที่เหนือไปจากประสาทสัมผัสของมนุษย์ ซึ่งเป็นต้นแบบต่างๆ ของสรรพสิ่งซึ่งมีอยู่ในโลกแห่งประสบการณ์ของมนุษย์ วัตถุสิ่งของต่างๆ ของประสบการณ์เป็นเพียงตัวอย่าง หรือการเลียนแบบรูปในโลกของแบบทั้งสิ้น นักปรัชญาท่านนี้พยายามให้เหตุผลสำหรับวัตถุเชิงประสบการณ์(ในโลกมนุษย์)กับความเป็นจริง(โลกของแบบ)ที่มันเลียนแบบมา บรรดาศิลปินทั้งหลายลอกแบบวัตถุเชิงประสบการณ์อีกทอดหนึ่ง หรือใช้มันในฐานะเป็นต้นแบบอันหนึ่งสำหรับงานของพวกเขา ด้วยเหตุนี้ ผลงานของบรรดาศิลปินทั้งหลายจึงเป็นการเลียนแบบของการเลียนแบบอีกทอดหนึ่ง เพื่อความเข้าใจชัดเจนขึ้นขอยกตัวอย่างต่อไปนี้

โลกของแบบ  - “ม้า”  (ม้าที่มีอยู่ในสมอง/ความคิดของมนุษย์)

โลกของประสบการณ์ – “ม้า” (ม้าที่เราสัมผัส รับรู้จริง - เลียนมาจากโลกของแบบ)

โลกของศิลปะ – “ม้า” (ภาพวาดม้า ที่เขียนเลียนแบบโลกของประสบการณ์)

            ความคิดของ Plato นี้ปรากฏเด่นชัดในหนังสือของเขาเรื่อง the Republic(*), Plato ไปไกลมากถึงขนาดให้ขับไล่หรือเนรเทศศิลปินออกไปจากอุตมรัฐซึ่งเป็นสังคมในอุดมคติของเขา ทั้งนี้เพราะเขาคิดว่า ผลงานของศิลปินเหล่านั้นกระตุ้นและสนับสนุนความไร้ศีลธรรม และผลงานประพันธ์ทางด้านดนตรีบางอย่าง เป็นมูลเหตุให้เกิดความขี้เกียจ หรือด้วยการเสพงานศิลปะ ผู้คนอาจถูกยุยงให้เกิดการกระทำเลยเถิดเกินกว่าจะยอมรับได้ไป (immoderate actions)

ศิลปะคือการเลียนแบบในทัศนะของอริสโตเติล

อริสโตเติล (Aristotle) ได้พูดถึงเรื่อง “ศิลปะคือการเลียนแบบ” เอาไว้ด้วยเช่นกัน แต่ไม่ใช่ในความหมายอย่างเดียวกันกับเพลโต (Plato) ใครคนหนึ่งสามารถที่จะเลียนแบบ “สิ่งต่างๆ ได้อย่างที่พวกมันควรจะเป็น และ “บางส่วน ศิลปะได้สร้างความสมบูรณ์ในสิ่งที่ธรรมชาติไม่สามารถนำมาซึ่งความสมบูรณ์แบบได้” (art party completes what nature can not bring to a finish) ศิลปินได้แยกแยะรูปทรงออกมาจากสสารของวัตถุบางอย่างของประสบการณ์ ตัวอย่างเช่น ร่างกายของมนุษย์หรือต้นไม้จริงบนโลก และจัดการกับรูปทรงอันนั้นในสสารอีกอย่างหนึ่ง อย่างเช่น เขียนหรือวาดมันลงบนผืนผ้าใบหรือสลักขึ้นมาจากแท่งหินอ่อน ด้วยเหตุนี้ การเลียนแบบจึงมิใช่เพียงแค่การลอกเลียนต้นแบบอันหนึ่งเท่านั้น และไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์ที่เป็นสัญลักษณ์มาจากของเดิม แต่เป็นสิ่งที่ปรากฏซึ่งมีลักษณะเฉาพะ มีแง่มุมอันหนึ่งของสิ่งต่างๆ และผลงานศิลปะแต่ละชิ้นคือการเลียบแบบมาจากสิ่งสากลหรือทั่วๆ ไป

สุนทรียศาสตร์กับศีลธรรมและการเมือง

            สุนทรียศาสตร์ ไม่อาจแยกออกได้จากเรื่องของศีลธรรมและการเมืองสำหรับในทัศนะของ Aristotle และ Plato. Plato ได้เขียนเกี่ยวกับเรื่องของดนตรีเอาไว้ในหนังสือ Politics ของเขา โดยยืนยันว่า “ศิลปะมีผลกระทบต่อบุคลิกภาพหรืออัตลักษณ์ของมนุษย์ และเนื่องจากเหตุนี้ จึงต้องมีกฏเกณฑ์ทางสังคม” ส่วน Aristotle นั้นถือว่า ความสุขคือเป้าหมายของชีวิต (happiness is the aim of life) เขาเชื่อว่าหน้าที่หลักของศิลปะก็คือ การจัดเตรียมความพึงพอใจให้กับมนุษย์ 

ในหนังสือเรื่อง Poetics เป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่เกี่ยวกับหลักการละครของ Aristotle. เขาอ้างเหตุผลว่า ละครโศกนาฏกรรมมีส่วนกระตุ้นเร้าอารมณ์ความรู้สึกเกี่ยวกับความสงสารและความกลัวได้มาก ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัวและไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อถึงตอนจบของละคร ผู้ดูจะได้รับการฟอกชำระเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ การระบายอารมณ์ของผู้ชมด้วยผลงานศิลปะ(catharsis)(*)อันนี้ ทำให้ผู้ชมละครมีสุขภาพดีขึ้นและด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงทำให้มีความสามารถมากขึ้นเกี่ยวกับความสุข

การละครในสมัย Neoclassicนับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17ได้รับอิทธิพลจากงานเขียนเรื่อง Poeties ของ Aristotle อย่างมาก ผลงานต่างๆ ของนักการละครชาวฝรั่งเศส Jean Baptiste Racine, Pierre Corneille และ Moliere นักการละครเหล่านี้ ได้ให้การสนับสนุนหลักการเกี่ยวกับเอกภาพทั้งสาม นั่นคือ เวลา(time) สถานที่(place) และการกระทำ(action)แนวความคิดนี้ได้ครอบงำทฤษฎีต่างๆ ทางวรรณกรรมมาจนกระทั่งมาถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 

Other Early Approaches

ปรัชญาเมธีในคริสตศตวรรษที่ 3 นามว่า Plotinus (AD 204-270) (*) เกิด ณ ประเทศอียิปต์และได้รับการฝึกฝนทางด้านปรัชญา ณ เมือง Alexandria ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นนักปรัชญานีโอเพลโตนิสท์(Neoplatonist)แต่เขาได้ให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องของศิลปะยิ่งกว่า Plato ได้กระทำ (กล่าวคือเพลโตมีทัศนะคติในแง่ลบต่องานศิลปะ). ในทัศนะของ Plotinus ศิลปะเปิดเผยถึงรูปทรงของวัตถุชิ้นหนึ่งให้ชัดเจนขึ้นเกินกว่าประสบการณ์ตามปกติ และมันได้ยกเอาจิตวิญญาณไปสู่การพิจารณาใคร่ครวญเกี่ยวกับสากลภาพ.  ตามความคิดของ Plotinus ช่วงขณะที่สูงสุดของชีวิตคือสิ่งที่ลึกลับ กล่าวได้ว่า วิญญาณได้รับการรวมตัวเป็นหนึ่งในโลกของแบบกับพระผู้เป็นเจ้า ซึ่ง Plotinus พูดถึงสิ่งนี้ว่าเป็น “the one” ในภาวะนั้น ประสบการณ์ทางสุนทรีย์(aesthetic experience)ได้เข้ามาใกล้กับประสบการณ์อันลึกลับ(mystical experience). สำหรับคนๆ หนึ่ง ในช่วงเวลาดังกล่าว ขณะที่พิจารณาไตร่ตรองถึงวัตถุทางสุนทรีย์อยู่นั้น เขาได้สูญเสียตัวของเขาเองไปหรือหลงลืมตัวตนจนสิ้น

  • Grey Facebook Icon
  • Grey YouTube Icon
  • Grey Instagram Icon

CRPAO SCHOOL

bottom of page